ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ของ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ฝ่ายที่เห็นด้วย

บทความของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคเป็นระบบล้าหลัง ไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการซื้อเสียง มีไว้เพื่อทำลายพรรคการเมืองบางพรรค และทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นระบบที่ขัดต่อหลักนิติธรรม นำไปสู่วิกฤตและทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง กรณียุบพรรคเป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 คณะรัฐประหารทำให้เลวร้ายลงไปอีกโดยออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ระบุว่า "...ในกรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคนั้นเป็นเวลา 5 ปี" จึงเป็นหลักกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การกระทำความผิดของคนบางคนทำให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบ นำมาซึ่งวิกฤติและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง นับเป็นการถอยหลังก้าวใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศ[10]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์

วันที่ 2 เมษายน 2551 คณาจารย์นิติศาสตร์ 41 คน จาก 9 สถาบัน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพราะถือเป็นความประสงค์ของนักการเมืองที่จะแก้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้อง ซึ่งรับไม่ได้ในทางกฎหมาย หากยอมให้คนทำผิดแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ระบบกฎหมายของประเทศจะถูกท้าทายและพังทลาย และถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 122 คือเป็นการดำเนินการในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสีย ขัดหลักนิติธรรม ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างธรรมเนียมไม่ถูกต้องขึ้นมา สามารถโดนถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ส่วนมาตรา 309 คณาจารย์เห็นว่าไม่กระทบ ถ้าประกาศ คปค. ยังคงอยู่ และมีรัฐธรรมนูญ 2549 รองรับ อย่างไรก็ตาม หากมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คปค.ในภายหลัง แสดงว่าเป้าหมายยังคงอยู่ที่เรื่องการยกเลิก คตส. และกรณีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน[11]

ในแถลงการยังได้ยกตัวอย่างว่าหลักการให้หน่วยงานต้องรับผิดร่วมกับบุคคลในหน่วยงานนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 237 ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในระบบกฎหมายไทยก็มีบทบัญญัติในเรื่องนี้หลายประการ เช่น มาตรา 425 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง" เมื่อลูกจ้างไปทำละเมิดผู้อื่น นายจ้างจะปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชอบก็ไม่ได้ หรือในกรณีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น"[12]

อื่น ๆ

นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถ้าถกเถียงกันโดยใช้เหตุใช้ผล ใช้ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งก็เป็นเรื่องดี มีความเป็นอารยะดีกว่าการใช้อำนาจ เอาสีข้างเข้าถู หรือการข่มขู่แบบอันธพาลซึ่งเป็นอนารยะ คนไทยจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยวิถีอารยะ การใช้เงินซื้อเสียงคือต้นเหตุของวิกฤติทางการเมือง จึงมีความพยายามในการสกัดกั้นโดยวางยาแรง คือ มาตรา 237 เจตนารมณ์คือให้พรรคการเมืองรับผิดชอบร่วมกัน ดูแลกันอย่าให้ใครทำผิด หวังว่าจะเกิดความกลัวเกรงไม่กล้าทำผิด แต่ก็เกิดการทำความผิดขึ้น การมีบทลงโทษหนัก หากเราไม่ทำผิดก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำผิดกฎหมายแล้ว จะกลับไปแก้กฎหมาย ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวที่พิลึกพิลั่นต่อไปได้มาก หวังว่าโจรคงจะไม่ขอแก้กฎหมายให้การเป็นโจรไม่มีความผิด

จริงอยู่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่การใช้อำนาจของเสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องพิจารณาว่าเพื่อตัวเองหรือเพื่อความถูกต้องดีงามของบ้านเมือง หากมีข้อครหาก็ขาดความเชื่อถือไว้ใจจากสังคม การแก้ไขตัวเองเป็นการตัดกรรม แต่การแก้ไขหลักการจะก่อเวรต่อ ๆ ไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจถึงเกิดจลาจลในบ้านเมือง คนไทยต้องใช้การต่อสู้ด้วยวิถีอารยะ ใครใช้หนทางอธรรมอันเป็นอนารยะจะพ่ายแพ้ในที่สุด เพราะธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ อารยวิถีย่อมชนะใจสาธารณะ[13]

บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลหรืออย่างไร คำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกของรัฐบาลซึ่งมีทั้งหมด 19 ข้อ ไม่มีข้อใดระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงว่ารัฐบาลได้ลืมไปแล้วว่าอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รับปากว่าจะดำเนินการ อีกทั้งนโยบายข้อแรก คือ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลได้สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการขัดแย้งและปะทะกันระหว่างสองฝ่าย[14]